แม่กำปอง…ที่หมายปองของใครหลายคน

ในจังหวัดเชียงใหม่มีหมู่บ้านท้องถิ่นอยู่มากมายหลายหลาก แต่มีหมู่บ้านหนึ่งที่เป็นที่หมายปองของคนต่างถิ่นหวังจะได้ไปเยือนสักครั้ง ที่นั่นคือ ‘แม่กำปอง’ หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว ๆ 50 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทางหมู่บ้านแม่กำปองเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร หมู่บ้านนี้ได้มีการก่อตั้งมาราว 100 ปี โดยชื่อ ‘แม่กำปอง’ มาจากบริเวณนั้นอยู่ใกล้ลำห้วยที่มีดอกไม้ขนาดเล็กสีเหลืองแดงชื่อว่า ดอกกำปอง ขึ้นอยู่ พอนำชื่อของดอกไปรวมกับคำว่าแม่น้ำจึงกลายเป็น ‘หมู่บ้านแม่กำปอง’ เช่นทุกวันนี้ ชาวบ้านที่แม่กำปองส่วนใหญ่เป็นคนเมืองหรือชาวเหนือที่อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อย้ายเข้าไปทำสวนเมี่ยงหรือป่าเมี่ยง พื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่กำปองเป็นเขตภูเขาและเนินเขาจึงทำให้จุดนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารและมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี เฉพาะอย่างยิ่งฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็นมาก เมื่อครั้งอดีตหมู่บ้านแม่กำปองยังไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวอย่างที่เห็น ที่นี่เป็นเพียงหมู่บ้านที่ค่อนข้างจะมีความอัตคัด ไม่มีความสะดวกสบายทั้งเรื่องความเป็นอยู่และการคมนาคม รวมถึงระบบสาธารณะสุขก็มีปัญหามาก อีกทั้งชาวบ้านไม่ค่อยมีความรู้ ทำแต่งานไร่งานสวน ในเวลาต่อมาอดีตผู้ใหญ่บ้านของแม่กำปองท่านหนึ่งได้มีความคิดจะพัฒนาพื้นที่แม่กำปอง แล้วก็ทำสำเร็จจนแม่กำปองเจริญน่าอยู่อย่างทุกวันนี้ โดยอดีตผู้ใหญ่บ้านได้อาศัยแนวคิดการพึ่งพาตนเองแบบไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งใช้ปัจจัยท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา ไม่ว่าจะวิถีชีวิต วัฒนธรรมเก่าแก่ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ
หลังจากที่ได้มีการพัฒนา แม่กำปองก็ถูกจัดให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ความเรียบง่าย ความสงบ รองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกฤดูแถมยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แล้วยังเป็นการช่วยชาวบ้านให้มีรายได้เสริมนอกเหนือจากอาชีพหลักอย่างทำสวนเมี่ยง กาแฟและชาอีกด้วย ที่พักแบบโฮมสเตย์ที่แม่กำปองมีหลายแบบหลายราคา ตามแต่นักท่องเที่ยวจะพึงพอใจ บ้างอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและสายธาร บ้างเป็นบ้านของชาวบ้านจริงๆ ทุกที่ล้วนมีความสะดวกสบายครบครัน
บริเวณหมู่บ้านแม่กำปองมีร้านค้าร้านอาหารหลายที่หลายแห่งล้วนตกแต่งเป็นเอกลักษณ์เหมาะแก่การเก็บภาพยิ่งนัก เพราะบรรยากาศจะผสมผสานระหว่างความทันสมัยกับความคลาสิกแบบวิถีชาวบ้าน ยิ่งเมื่อเดินเท้าท่องไปตามถนนหนทางที่สองฟากมีต้นไม้ไปตลอดทางก็ยิ่งทำให้ได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดราวกับกำลังก้าวเข้าไปในวิถีนั้นเลยเชียว
นอกเหนือไปจากการเที่ยวชมในหมู่บ้านแม่กำปอง บริเวณใกล้เคียงก็ยังมีสถานที่ให้นักท่องเที่ยวแวะเที่ยวอีก อาทิ
– ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ที่ โครงการหลวงแห่งนี้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2524 โดยใช้เป็นแหล่ง
สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมและการปลูกกาแฟอาราบิก้าให้แก่ราษฎรในพื้นที่ สำหรับทดแทนการปลูกเมี่ยง ภายในอาคารของโครงการหลวงตีนตก มีร้านกาแฟที่จัดแบบสบายๆ ไว้บริการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวนั่งดื่มเครื่องดื่มโปรดพร้อมฟังเสียงธารน้ำไหลไปด้วย นอกจากจะมีเครื่องดื่มไว้เสิร์ฟแล้ว ที่ร้านแห่งนี้ก็ยังมีอาหารแนวออแกนิก สำหรับคนรักสุขภาพด้วย เมื่ออิ่มหนำกับอาหารและเครื่องดื่ม นักท่องเที่ยวก็สามารถลงไปเดินยืดเส้นยืดสายรอบบริเวณโครงการฯ ซึ่งบรรยากาศเต็มอิ่มและร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ยิ่งเดินก็ยิ่งสดชื่น
– วัดกันธาพฤกษา หรือ วัดแม่กำปอง เป็นวัดเดียวในหมู่บ้านที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐาน วัดนี้มี
สถาปัตยกรรมแบบภาคเหนือ วิหารหลังเก่าเป็นไม้ทั้งหลัง หน้าจั่วหลังคาวัดแกะสลักด้วยไม้สักและเป็นลวดลายแบบล้านนา สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้คือ พระอุโบสถที่ตั้งอยู่กลางลำน้ำช่างสวยงามมากๆ
– น้ำตกแม่กำปอง เป็นน้ำตกที่มีความสูงถึง 7 ชั้น น้ำใสสะอาด รอบน้ำตกมีต้นเฟิร์นและตะไคร่น้ำขึ้นอยู่ ที่น้ำตก
แห่งนี้เป็นต้นน้ำของแหล่งกำเนิดประปาหมู่บ้านแม่กำปอง ซึ่งชาวบ้านทุกคนร่วมใจกันสร้างขึ้น
– ร้านกาแฟ ไจแอนท์ เชียงใหม่ อันที่จริงร้านกาแฟแถวๆ แม่กำปองมีค่อนข้างเยอะ แต่ร้านกาแฟ ไจแอนท์
เชียงใหม่ ดูเหมือนจะเป็นที่หลงใหลของนักท่องเที่ยว คงไม่ใช่เฉพาะรสชาติเครื่องดื่ม แต่เป็นเพราะบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของร้าน ซึ่งก็คือ ก่อนจะเข้าไปในร้านจะต้องเดินข้ามสะพานเชือกที่แกว่งไปมาเวลาเดิน ทำให้ได้อารมณ์คล้ายกับกำลังผจญภัยในป่าใหญ่ เมื่อเดินไปถึงตัวร้านก็ได้สัมผัสกับร้านกาแฟ ซึ่งตั้งอยู่บนต้นไม้ใหญ่ สามารถมองเห็นวิวต้นไม้เขียวขจีได้รอบ ด้าน บริเวณร้านก็ตกแต่งแบบสบายๆ รื่นรมย์มาก นอกเหนือไปจากนี้ ทางร้านยังให้บริการเรื่องที่พักด้วย โดยเป็นที่พักบนต้นไม้ มีอยู่ 5 ห้อง แบ่งเป็นแบบดีลักซ์ 3 ห้อง และ แบบสแตนท์ดาร์ต 2 ห้อง
ไม่ว่าจะบรรยายหรือพรรณนามากมายแค่ไหน มันก็ไม่เท่ากับไปเห็นด้วยตาตัวเองหรอก ลองหาเวลาไปสัมผัสหมู่บ้านในป่าใหญ่นะ แล้วคุณจะลืม ‘แม่กำปอง’ ไม่ลงเลย